ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า หลายๆ องค์กรเห็นความสำคัญถึงประโยชน์ของป่าชายเลนกันมากขึ้นจึงได้พัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนให้ดีขึ้นเพื่อรักษาระบบนิเวศของพื้นที่ชายฝั่งทะเล อีกทั้งยังสามารถเป็นสถานที่ท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ และสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ได้อีกด้วย
อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นบ้านเกิดของดิฉันเอง มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจมากมาย ดิฉันขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งเรียนรู้ได้อย่างดี นั่นคือ “ป่าชายเลนในเขตพื้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร” ค่ะ ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักถึงประวัติความเป็นมาของสถานที่นี้กันก่อนนะคะ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร
สืบเนื่องจากวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๓๗
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริกับนายสุเมธ
ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. ในขณะนั้น ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
ให้จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อทดลองปลูกและฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนเพื่อให้
ระบบนิเวศป่าชายเลนกลับคืนสู่ธรรมชาติ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๗
ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงปลูกป่าชายเลนชนิดต่าง ๆ
ที่คลองบางตราใหญ่และคลองบางตราน้อย
และได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมกับผู้กำกับการ ๑ กองบังคับการฝึกพิเศษ
ในขณะนั้น ให้ดำเนินการหาวิธีที่จะดูแลรักษาให้ต้นไม้ชายเลนที่ปลูกไว้นี้อยู่รอดและ
ให้ดำเนินการปลูกป่าชายเลนต่อไปในพื้นที่ที่เหลืออยู่ทั้งสองแห่ง
ที่บริเวณคลองบางตราใหญ่และคลองบางตราน้อย
และเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๑
ขณะที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงจักรยาน
และทรงวิ่งออกกำลังพระวรกายบริเวณค่ายพระรามหก
ได้ทอดพระเนตรสภาพดินและพื้นที่รกร้างที่มีคราบเกลือบนพื้นดิน
จึงได้พระราชทานพระราชดำริกับท่านผู้หญิงบุตรี
วีระไวทยะ
ให้หาทางฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมดังกล่าวให้เป็นพื้นที่สีเขียวและมีความสวยงาม
ตามธรรมชาติเพื่อใช้เป็นพื้นที่นันทนาการและเป็นพื้นที่สำหรับศึกษาระบบ
นิเวศที่ได้ปรับตัวหลังจากมีการปรับปรุงพื้นที่แล้ว
จนกระทั่งในปีพุทธศักราช ๒๕๔๓
กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
และมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ
เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง “อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติ” ณ ค่ายพระรามหก
อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสที่เจริญพระชนมายุครบ ๔ รอบ ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๖
โดยมีแนวทางในการดำเนินการตามแนวพระราชดำริและพระราชกรณียกิจ
ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงงานในบริเวณค่ายพระรามหก
เป็นแนวทางในการดำเนินงานให้อุทยานฯ เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต
โดยมุ่งหวังว่าเมื่ออุทยานฯ แห่งนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว จะเป็นสถานที่เผยแพร่พระเกียรติคุณและพระปรีชาสามารถในด้านการอนุรักษ์
ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม
ให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
และจะเป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ทางด้านการฟื้นฟูป่าชายเลน ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณ
และที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด ตลอดจนเป็นสถานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงประวัติศาสตร์
อันทรงคุณค่าของประเทศไทยและของโลก
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๓
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระ
นามาภิไธยเป็นนามอุทยานว่า “อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร”
(The Sirindhorn International Environmental Park) และพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญอักษรพระนามาภิไธย
“สธ” ประดับตราสัญลักษณ์ของอุทยาน
อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร
บริหารจัดการโดยมูลนิธิอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา
ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีนายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นประธานกรรมการก่อตั้งมูลนิธิฯ
เพื่อให้ดำเนินงานไปตามแนวทางพระราชดำริ
โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้อยู่ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๕ เป็นต้นมา
นอกจากนี้
อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร
ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ในการเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรอย่างเป็น ทางการ
เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑ นำความปลาบปลื้มมาสู่คณะผู้บริหาร และบุคลากร ตลอดจน
หน่วยงานต่าง ๆ
ที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามแนวทางพระราชดำริของอุทยานสิ่งแวดล้อมนานา
ชาติสิรินธรเป็นอย่างยิ่ง
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สวนป่าชายเลนทูลกระหม่อม
ป่าชายเลนในเขตพื้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร
ตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางตราน้อยและปากคลองบางตราใหญ่
เดิมบริเวณนี้มีสภาพป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ
ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นและเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์นานาชนิด
แต่ได้มีการบุกรุกทำลายและป่ามีสภาพเสื่อมโทรมลงจนเกือบหมดสภาพป่าธรรมชาติ
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริ กับนายสุเมธ ตันติเวชกุล ณ
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน มีใจความโดยสรุป “ให้จัดการพื้นที่ที่เหมาะสม
เพื่อทดลองปลูกและฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน เพื่อนิเวศวิทยาป่าชายเลนกลับคืนสู่ธรรมชาติ”
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2537 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงปลูกต้นโกงกาง
ที่บริเวณปากคลองบางตราน้อยและคลองบางตราใหญ่
และได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมให้ดำเนินการศึกษาหาวิธีที่จะดูแลรักษา
ให้ต้นไม้ที่ทรงปลูกไว้นี้ให้อยู่รอด และดำเนินการปลูกเพิ่มเติมต่อไป
ปัจจุบันสภาพป่าชายเลนในเขตพื้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิ
รินธร มีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศมากขึ้น
ประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้ป่าชายเลนหลากหลายชนิด ได้แก่ โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่
ตะบูน ตะบัน ตาตุ่มทะเล โพทะเล จิกทะเล ปรงทะเล ขลู่ ฯลฯ
เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่าง ๆ
โดยเฉพาะนกนานาชนิด ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ กลายเป็นห้องเรียนธรรมชาติ
สำหรับศึกษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลนได้อีกแห่งหนึ่ง
และช่วยปลุกจิตสำนึกให้ตระหนักถึงคุณประโยชน์อันมหาศาลของป่าชายเลน
ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้
ข้อมูลจาก : www.sirindhornpark.or.th
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เพื่อนๆ ก็ได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของป่าชายเลนในเขตพื้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรกันแล้วนะคะ ถ้ามีโอกาสหรือผ่านมาที่อำเภอชะอำก็แวะเข้าไปเที่ยวชมกันได้นะคะ สำหรับการเดินทางนั้นไม่ยากเลยค่ะ จากสี่แยกไฟแดงชะอำ มุ่งสู่ทิศใต้ประมาณ 9 กม. (ถนนเพชรเกษม) เลี้ยวซ้ายเพื่อผ่านประตูทางเข้าค่ายพระรามหกโดยอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรอยู่ถัดเข้าไปจากประตู ทางเข้าค่ายพระรามหกค่ะ
เมื่อปีที่แล้ว ดิฉันเองได้มีโอกาศได้ไปเที่ยวที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันกับครอบครัว แล้วบริเวณทางซ้ายจะเป็นป่าชายเลนดิฉันเลยชวนครอบครัวเข้าไปเดินเที่ยวชมเพราะยังไม่เคยเข้าไปเลยสักครั้ง ระยะทางเข้าไปลึกอยู่เหมือนกันค่ะ สามารถเดินเท้าหรือจะปั่นจักรยานเข้าไปได้นะคะ มีบริการให้เช่าจักรยานค่ะสะดวกสบายมากๆ บริเวณทางเข้าป่าชายเลนมีสวนหย่อมต้นไม้ดอกไม้ประดับตกแต่งไว้สวยงาม เป็นสถานที่ถ่ายรูปได้เลยค่ะ ภายในจะมีสะพานไม้ทอดยาวแบ่งเป็นสองทาง แต่ทั้งสองทางนี้จะมาบรรจบกันเป็นวงกลม สามารถเดินถึงกันได้ ระยะทางยาวมากๆ แต่เสียดายที่ดิฉันเดินชมได้แค่ครึ่งทางเพราะคุณแม่เดินไม่ไหวแล้วค่ะ เพราะสุดเส้นทางนั้นอยู่ไกลมาก คุณลุงของดิฉันได้เล่าประสบการณ์ที่เคยมาที่นี่ว่าได้เดินไปสุดเส้นทางแล้วได้เห็นวิวน้ำทะเลที่งดงามมากๆ ค่ะ ฟังคุณลุงเล่าแล้วอยากไปเห็นด้วยตาตัวเองซักครั้ง ถ้าดิฉันได้มีโอกาสได้ไปอีกเมื่อไหร่จะเก็บภาพสวยๆ มาฝากให้เพื่อนชมกันนะคะ ระหว่างเดินชมป่าชายเลนก็จะมีข้อมูลให้ความรู้ต่างๆ ติดอยู่ด้านข้างตัวสะพาน มีศาลาในหยุดนั่งพักผ่อน มีบอร์ดให้ความรู้ อธิบายเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วยคะ


ป่าชายเลนนี้ยังเป็นแหล่งอาหารของที่อุดมสมบูรณ์ของเราด้วยนะคะเพราะมีสัตว์ทะเล อย่างเช่น กุ้ง ปู ปลา หอยชนิดต่างๆ เข้ามาอยู่อาศัย เข้ามาวางไข่ เหมือนกับแหล่งปะกาลังในทะเลเลยหล่ะค่ะ ป่าชายเลนยังสามารถเป็นแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ช่วยลดความแรงของคลื่นทะเลที่ซัดมากระทบกับชายฝั่งได้อีกด้วยค่ะ ทั้งยังสามารถเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับชุมชนนั้นๆ คุณครูที่โรงเรียนในชุมชนสามารถพานักเรียนมาทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี สามารถบูรณาการความรู้ได้กับทุกสาระการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนเป็นผู้แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง มีความกระตือรือร้นและตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันกับความก้าวหน้าของวิทยาการและสนองต่อความต้องการการเรียนรู้ด้วยตนเองได้มากขึ้น โดยมีครูเป็นที่ปรึกษาแนะแนวทางในการศึกษาค้นคว้า
(ภาพสายใยอาหารจาก : http://fieldtrip.ipst.ac.th)
ดังนั้น เมื่อเราเห็นถึงประโยชน์ของป่าชายเลนกันเลย เราก็ควรช่วยกันอนุรักษ์ป่าชายเลนเอาไว้ให้แหล่งเรียนรู้สำหรับคนรุ่นหลังต่อไปได้ และช่วยกันรักษาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยให้อยู่กับเราไปนานๆกันนะคะ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น